หน้าเว็บ

07 มกราคม 2554

บริหารแบบไร้อำนาจ

“ถ้า คุณใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่แต่ขาดการใช้คุณธรรม นั่นเท่ากับคุณได้สร้างความอ่อนแอให้กับทั้งตนเอง ผู้อื่น และในความสัมพันธ์ขึ้นแล้ว คุณได้สร้างความพึ่งพิงกันในทางที่ผิดขึ้นแล้ว”  (The 8th Habit: Stephen R. Covey)


นี่ค่อนข้างจะสมัยใหม่ ย้อนมาดูเก่าเก๋าบ้างครับ จากเต๋าเต็กเก็ง บทที่ 17 พูดถึงผู้ปกครองที่ดีที่สุดไว้ว่า
ผู้ปกครองที่ดีที่สุดนั้น  ราษฎรเพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่
ที่ดีรองลงมา  ราษฎรรักและยกย่อง
ที่ดีรองลงมา  ราษฎรกลัวเกรง
รองลงมาเป็นอันดับสุดท้าย  ราษฎรชิงชัง

เป็นที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้วว่า ยิ่งเราใช้อำนาจมากเท่าไร เราก็ยิ่งไร้อำนาจมากเท่านั้น และหากเราไม่ใช้อำนาจได้มากเท่าใดก็ดูเหมือนจะมีอำนาจมากขึ้นเช่นกัน สรุปเป็นภาษาบริหารก็แบบว่าบริหารแบบมีส่วนร่วมก็น่าจะได้
อันธรรมชาติของคนเรานั้น หากเพียงได้รับคำสั่งที่ไม่ได้ผ่านการร่วมพิจารณาหรือเสนอไอเดียอะไรเลย ถามว่าต้องทำตามคำสั่งนั้นไหม ก็ต้องทำอยู่แล้วเพราะเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา แต่การปฏิบัตินั้นจะเป็นเช่นไร ก็เป็นเพียงทำให้ได้ตามมาตรฐานขั้นต่ำเท่านั้น ไม่งั้นปัญหาที่จะเป็นภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินอาจจะตามมาอีกมากมาย
แต่ถ้าหากว่างานนั้นเป็นไอเดียเป็นความคิดของเขา เขาจะต้องพยายามพิสูจน์ว่าไอเดียของเขานั้นสุดเจ๋ง การปฏิบัติต่างๆ ก็เพื่อตอบสนองความต้องการในความภาคภูมิใจอันนี้ หากมีสิ่งใดเป็นปัญหาก็จะพยายามแก้ไขให้ได้ผลงานดีเลิศ
ดังนั้น ผู้นำที่ผู้ตามเพียงแต่รู้ว่ามีเขาอยู่ก็คือหลักการอันนี้ ไม่ได้ออกคำสั่ง แต่ชี้ประเด็นและอำนวยการให้เกิดการคิดร่วมกัน ตนเองเพียงกำกับทิศทาง พยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ข้อสรุปนั้นเป็นความคิดของผู้ตาม เพื่อให้เขาเป็นเจ้าของไอเดีย พร้อมทั้งถ่ายโอนอำนาจ และจะทำให้ผลลัพธ์ด้านดีจากการปฏิบัตินั้นเป็นของผู้ตาม ฝึกพวกเขาให้มีความเก่ง ชำนาญ เชี่ยวชาญ สามารถดำเนินการใดๆ ได้ด้วยความรับผิดชอบของเขาเอง
ทำให้พวกเขาทำงานต่างๆ เหล่านี้เหมือนงานประจำของพวกเขา เพียงแต่ว่าอะไรที่เป็นเรื่องใหม่ๆ เมื่อจะทำอะไรก็มาแจ้งให้ทราบเพื่ออนุมัติดำเนินการ นั่นคือ พวกเขาสามารถทำได้ทุกสิ่ง แต่ถ้าเป็นเรื่องใหม่ๆ พวกเขาก็รู้ว่าต้องรายงานและขอความเห็นชอบก่อน เพราะรู้ว่ามีผู้นำอยู่คอยค้ำจุนและรับผิดชอบต่อผลเสียที่จะเกิดขึ้น ผู้นำเช่นนี้จะรับแต่ผลเสีย ส่วนผลดียกให้เป็นเรื่องของผู้ตาม
ผู้ตามก็รู้สึกตนว่ามีคุณค่า มีความภาคภูมิใจในตนเอง ได้แสดงความสามารถออกมาอย่างเต็มที่ พวกเขาก็จะรักและยกย่องผู้นำ และรักษาเอาไว้ เพื่อพวกเขาจะได้มีคนที่เห็นคุณค่าของพวกเขา
แต่... บางครั้งก็เป็นกรรมเป็นเวรของผู้นำเช่นนี้เหมือนกัน เมื่อนายระดับสูงไม่ได้คิดว่าผลงานเหล่านี้เป็นผลงานของผู้นำ กลับคิดว่าเพราะผู้ตามต่างหากที่ทำงาน ส่วนผู้นำคนนี้ไม่เห็นทำอะไร ดีแต่เจ๊าะแจ๊ะกับพวกผู้ตามไปวันๆ กินแรงนี่หว่า นายแบบนี้ไม่ได้เข้าใจว่าเพราะผู้นำแบบนี้ต่างหากที่ทำให้ผู้ตามแสดงผล งานออกมาได้อย่างเลอเลิศ จะรู้ก็ต่อเมื่อได้ฆ่าผู้นำคนนี้ไปแล้ว เมื่อขาดผู้นำคนนี้ไป ผู้ตามก็หมดแรงใจที่จะทำงาน ผลงานก็เริ่มตกต่ำกว่ามาตรฐาน แต่โทษทีครับ คุณคิดว่านายคนนี้จะมีปัญญาพอทราบหรือไม่ว่าตนเองทำอะไรผิดพลาดไป ในทางกลับกันนายแบบนี้จะโทษโน่นโทษนี่ไปเรื่อยๆ และมักโทษผู้นำที่ถูกฆ่าไปแล้วนั้นว่าเป็นสาเหตุสำคัญ ทำให้พนักงานเหลิง ยึดติดกับบุคคล พอมีผู้นำคนใหม่ก็ไม่ให้ความร่วมมือ เป็นซะงั้น!
ดังนั้น ผู้นำที่ดีไม่เพียงจะบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาเท่านั้น หากยังต้องบริหารเจ้านายด้วย และต้องบริหารอย่างดี ไม่เช่นนั้นอาจตายได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: