หน้าเว็บ

30 มกราคม 2554

ปัญหาของใครกันแน่?

สิ่งที่ได้จากการระดมระสมองในหัวข้อ “ยังมีปัญหาอะไรอยู่บ้างในการทำงานทุกวันนี้” เมื่อเปิดเสรีทางความคิดอย่างเต็มที่กับทุกคน กับทุกปัญหาสารพัน
หัวข้อปัญหาที่พบประจำคือ...

  • การสื่อสารบกพร่อง
  • ความขัดแย้งในหน่วยงาน
  • ความขัดแย้งระหว่างหน่วยงาน
  • ขาดความสามัคคี
  • อาหารที่โรงอาหารไม่อร่อย
  • หัวหน้าไม่ค่อยรับฟังความคิดเห็น
  • ขาดความยุติธรรม
  • ลำเอียง
  • หัวหน้าหูเบา
  • ทุ่มเททำงานแล้วไม่เกิดผลดี
  • คนน้อย งานเยอะ
  • ฯลฯ
ฟังแล้วน่าเห็นใจไหมครับ? เข้าประเด็นเลยดีกว่า
สังเกตให้ดีนะครับว่า ส่วนใหญ่ที่แต่ละกลุ่มระดมสมองได้มานั้นมันเป็นปัญหาสามัญประจำบ้านประจำ อุตสาหกรรมไทยยังไงไม่รู้ แต่ก็ดูเหมือนผู้ร่วมประชุมจะสะใจที่ได้ระบายอะไรออกมาบ้าง แต่... สังเกตไหมครับว่าลักษณะปัญหาต่างๆ นั้นมันเหมือนกับว่ารอให้ใครสักคนที่จะขี่ม้าขาวมาแก้ไขให้ และดูเหมือนว่าพระเอกที่ขี่ม้าขาวคนนี้จะขี่ม้าขาวมาตัวเดียวไม่ได้ เห็นจะต้องขี่มาทั้งฝูง
ลักษณะปัญหาแบบนี้เป็นการโยนปัญหาให้คนอื่นแก้ โดยยอมทำตัวเองให้เป็นเหยื่อ
ถ้าเปลี่ยนประโยคปัญหาใหม่เป็น...
  • เรารับสารที่สื่อสารออกมาไม่ครบถ้วน (หรือบกพร่อง)
  • เราไม่สามารถจัดการความจัดแย้งในหน่วยงานได้
  • เราไม่สามารถจัดการความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานได้
  • เราไม่สามารถทำให้เกิดความสามัคคีได้
  • เราไม่สามรถแก้ไขปัญหาเรื่องอาหารที่โรงอาหารซึ่งไม่อร่อยได้
  • ฯลฯ (ที่เหลือให้ปรับแก้ไขเอง... ได้ไหมเอ่ย?)
สังเกตไหมครับว่าอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป คือการที่เราเอาตัวเองไปรับผิดชอบในเหตุการณ์ต่างๆ ไงครับ เมื่อเราได้ผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว หน้าที่เราคือรับผิดชอบที่จะปรับปรุงแก้ไข ไม่รอให้ใครมาแก้ เพราะเราคือมืออาชีพ และเราจะเล่นกับปัญหาเหล่านี้ ปัญหาที่เรื้อรังแต่ยังไม่มีใครเข้าไปแก้ไข
อย่าเพิ่งค้านว่ามันไม่ใช่หน้าที่เรา เราไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแก้ ฯลฯ
เมื่อเราได้รับผลกระทบ เราก็ต้องแก้ไขซิครับ และไม่จำเป็นต้องมีอำนาจ เพราะเราไม่ใช้อำนาจในการแก้ไข เราใช้ปัญญา อีกอย่างถ้าเราไม่เข้าไปแก้ แปลว่าเรารับมันได้ นั่นคือต้องไม่บ่นด้วย ไม่โทษอะไรต่อมิอะไร
อย่าเพิ่งคิดเลยครับว่าจะแก้อย่างไร ขอให้เข้าไปรับผิดชอบก่อน คิดว่าตนเองต้องรับผิดชอบแก้ไขก่อน แค่นี้ก่อนครับ แล้ววิธีการต่างๆ มันจะตามมาเอง ลองดูก็ได้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น: