หน้าเว็บ

16 มกราคม 2554

เมื่อลูกน้องตีจาก

เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งได้ลาออกจากบริษัทเดิม ไปอยู่บริษัทใหม่ที่ให้เงินเดือนมากกว่าเกือบเท่าตัว แต่ดูเหมือนว่าเขาจะไม่ค่อยมีความสุขสักเท่าไรตอนลาจาก เหตุเพราะว่ามีหัวหน้าบางคนได้ต่อว่าต่อขานเขาว่าไม่สำนึกในบุญคุณบริษัท ดูซิบริษัทส่งเสียให้ไปเล่าเรียนไปฝึกอบรมเสียเงินเสียเวลาก็มากกมาย เห็นแก่ได้เพียงเงินเดือนสูงกว่าก็ไปแล้ว ใช้ไม่ได้เอาเสียเลย

โอ้ว่าการลาจาก ทำไมไม่ลาจากด้วยไมตรี!!


"ผู้คนไฉนหยามดูแคลนต่อสิ่งที่ได้ครอบครอง?
ไฉนต้องรอจนสูญเสียไป ค่อยรู้จักรักถนอม?" (โกวเล้ง-เซี่ยงลี้ปวยตอ)
"หากไม่เคยเผชิญความปวดร้าวของการจำพราก ไหยเลยล่วงรู้ความสุขของการอยู่ร่วม" (โกวเล้ง-ตะขอจำพราก)
ขอโทษครับ ผมก็คนหนึ่งที่ลาออกมาจากบริษัทเพราะไปอยู่ที่อื่นผมได้เงินเดือนสูงกว่า ตั้งมากมาย และก็นายคนหนึ่งก็เคยพูดว่าเงินเดือนเดิมก็พออยู่พอกินไม่ใช่หรือ หากรู้จักพอเพียงก็อยู่ได้สบายแล้วไม่ใช่หรือ ทำไมต้องลาออกเพียงเพื่อให้ได้เงินเดือนที่สูงกว่า
นั่นก็เป็นความเห็นของนาย แต่ในความเห็นของผมก็คือผมทำงานหนักมาก แต่ได้เงินเดือนสูงกว่าลูกน้องเพียง 270 บาท ผมทำใจไม่ได้ หากจะได้น้อย มันก็ควรเป็นกฎเป็นเกณฑ์ที่ยุติธรรม ไม่ใช่ลักหลั่นกัน เมื่อแจ้งให้ทราบแล้วไม่จัดการใดๆ ให้ ผมจะอยู่ทำไม
จริงอยู่ว่าเงินเดือนนั้นพอใช้จ่ายได้สบาย แต่คนเราต้องการมีบ้านของตัวเอง ไม่ใช่อาศัยบ้านพักของบริษัท ทุกคนอยากส่งลูกเรียนในสถานศึกษาที่ดีเพื่ออนาคตของเขา และที่สำคัญ คนที่มีศักยภาพที่จะหาเงินได้มากกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน เขาจะอยู่ได้ก็เพราะมีแรงจูงใจทางด้านอื่น แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนที่จะลาออก
อันว่าคนดี คนที่รับผิดชอบนั้น แม้เขาลาออกไป เขาก็ย่อมสำนึกในบุญคุณของบริษัทที่หล่อหลอมเขา ให้ประสบการณ์เขา และเขาเองก็ไม่เคยคิดว่าเนรคุณหรอกครับ เพราะตอนที่เขาอยู่นั้น เขาก็ทุ่มเทสุดๆ ให้กับบริษัทอยู่แล้ว เขาให้มากกว่าที่คนอื่นๆ สามารถจะให้ตั้งมากมาย เขาทำงานยากเย็นแสนเข็ญสำเร็จมามากทั้งที่คนอื่นทำได้ไม่เท่าเขา หรือไม่ก็ต้องใช้ทรัพยากรมากกว่านะครับ ไม่เชื่อก็ลองดูตอนที่เอาคนมาแทนเขาคนนี้ก็แล้วกัน แล้วจะทราบว่าเขาทำได้ไง ทำไมคนอื่นทำไม่ได้
เมื่อลูกน้องฝีมือดีมาลาออกเพราะว่าไม่สามารถเติบโตหรือไม่สามารถมีราย ได้ที่เหมาะสมได้ สิ่งที่เราควรทำคือขอโทษไม่ใช่หรือ เพราะว่าเราไม่สามารถสนับสนุนหรือส่งเสริมเขาได้มากกว่านี้ เสียใจที่ไม่สามารถจะรั้งเขาไว้ได้ เขามีศักยภาพเกินกว่าเงินเดือนที่บริษัทให้เขา แม้ว่าเราจะได้พยายามปรับตำแหน่งปรับเงินเดือนให้ยังไง มันก็ตัน มันไม่ได้ มันก็ต้องเสียใจ แสดงความเสียใจให้เขารู้พร้อมการขอโทษอย่างแรง เพื่อที่มิตรภาพระหว่างเราและเขาจะยังคงอยู่ เรายังเคารพในความสามารถของแต่ละฝ่ายอยู่ เราสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ ช่วยเหลือกันได้ และหวังว่า สักวันเราอาจจะได้ร่วมงานกันอีก
หากมัวแต่ตำหนิลูกน้องที่ลาออก ก็เหมือนกับว่าไม่เคยโทษตัวเองเลยใช่ไหมว่าไม่สามารถทำให้ลูกน้องอยู่ต่อไป ได้ จะทำให้เราหลงตัวเองอยู่ร่ำไป สิ่งที่ต้องดำเนินการเห็นจะต้องกลับมาทบทวนสาเหตุอย่างเป็นธรรม ในมุมมองของคนที่ลาออกไป
ลักษณาการแบบนี้ต่างคนต่างก็รู้ไม่ใช่หรือ หากเผลอไปก็ต้องหันกลับมาเจริญสติให้มาก เพื่อให้เกิดปัญญา

ไม่มีความคิดเห็น: