หน้าเว็บ

18 มกราคม 2554

จอมปลอมหรือจริงใจ? (ตอน 2)

เรื่องต่อไปนี้ จอมปลอมหรือจริงใจ?
ระหว่างแนะนำเรื่องการบริหารเจ้านาย เนื่องจากเจ้านายเป็นคนประเภทที่ชอบตำหนิ ต่อว่า ด่า แบบไม่ฟังเหตุผล ระบายอารมณ์ของตนออกมาอย่างเต็มพิกัด ทำให้เราต้องเจ็บช้ำน้ำใจกับอารมณ์วัยทองของนายคนนั้น วิธีการจัดการกับนายแบบนี้ก็คือให้จ้องหาโอกาสตอนที่นายของเราคนนี้ถูกอัด บ้าง ไม่ต้องคิดว่าจะมีโอกาสแบบนี้ไหม ไม่ต้องรอตลอดชาติหรอก ไม่ต้องครับ เพราะนายเราต้องโดนแน่ๆ เช่น อาจจะจากนายของนายเรา จากลูกค้า จากเจ้าหน้าที่รัฐ ฯลฯ นั่นแหละครับ โอกาสงามมาก เราจะเห็นนายเราช่างใจเย็นเหลือเกิน ยอมเขา อดทนอดกลั้นให้กับเขาเหล่านี้ได้ดีมาก



ให้ฉวยโอกาสไปชื่นชมนาย เชิงกระซิบกระซาบก็ได้ บอกนายไปเลยว่า “โอ้โฮครับ นายทำได้ยังไง ดูหนักแน่นดังขุนเขา แล้วยังสามารถโต้ตอบได้อย่างใจเย็น บุคลิกแบบนี้ต้องฝึกฝนยังไงครับ” แล้วก็ปล่อยไว้อย่างนั้น ให้เนิ่นนานไปอีกวันสองวัน แล้วเข้าไปย้ำใหม่ หาเรื่องให้ตัวเองก่อน เพื่อจะได้มีเรื่องไปขอความช่วยเหลือจากนาย “นายครับ ผมมีเรื่องขอคำนะนำหน่อย มันอาจเป็นเรื่องส่วนตัวไปนิด แต่เพราะนายเป็นแบบอย่างของความหนักแน่น มีสติรู้ตัวสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมาขอคำแนะนำครับ คือผมทะเลาะกับแฟน แล้วผมคุมอารมณ์ไม่อยู่ เลยขึ้นเสียงกับเธอไป ผมอยากทราบว่าเราจะสามารถควบคุมตัวเราเองได้อย่างไรครับ เพื่อว่าจะได้ไม่เผลอทำเรื่องแบบนี้อีก”
อีก 3-4 วัน ก็หาเรื่องไปขอบคุณนายว่าเราได้ใช้วิธีของนายแล้วได้ผลครับ
จากขั้นตอนเหล่านี้ จะเห็นว่าวิธีการที่ใช้นั้นเป็นขั้นเป็นตอน ขั้นตอนแรกคือทำให้นายทราบว่าเราเลื่อมใส เคารพนับถือนาย และเพื่อเปลี่ยนท่าทีที่มีต่อเราเสียใหม่ เพราะเป็นธรรมชาติของคนอย่างหนึ่งคือ ถ้าใครเขาเคารพนับถือเรา เราจะต้องเก็บเขาไว้เป็นพวกพ้องเพื่อจะได้มีคนที่เคารพนับถือเราต่อไป และที่บอกว่าที่เรานับถือเพราะความหนักแน่นของนาย ระงับอารมณ์ได้ดีนั้น ก็เป็นการตอกย้ำว่าเราเคารพนับถือเพราะบุคลิกแบบนี้ เขาก็ต้องรักษาบุคลิกแบบนี้เมื่อปฏิบัติต่อเรา เพื่อเราจะได้เคารพนับถือเขาต่อไป
ต่อมาเมื่อเราไปขอคำปรึกษาจากเขา ก็เป็นการทำให้เขาทำอะไรให้เราในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะเป็นธรรมชาติอีกเหมือนกันว่าเมื่อเราช่วยเหลือใครไปแล้ว เราจะเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง และเราก็จะรักเอื้ออาทรต่อคนที่เราได้ช่วยเหลือไปนี้ และสุดท้ายเมื่อเราไปขอบคุณเขา ก็แสดงให้เห็นว่าเราเคารพนับถือเขาอย่างแท้จริง และนำความคิดวิธีการของเขาไปปฏิบัติ ถ้าเป็นเรา เราจะรักษาคนแบบนี้ไว้ไหม?
นี่แหละครับคือประเด็นว่าหลอกลวงจอมปลอมหรือเปล่า? ซึ่งตอนที่แล้วก็แจ้งให้ทราบแล้วว่าจุดมุ่งหมายคืออะไร นั่นแหละคือเส้นแบ่งระหว่างความจริงใจกับหลอกลวงจอมปลอม
เพราะเราคือมืออาชีพ ที่ต้องพัฒนาคนในทุกระดับ ดังนั้นสิ่งที่เราทำไปเพื่อพัฒนานายเรา เพื่อให้เขาเปลี่ยนแปลงตัวเอง เมื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่อเราได้ เขาก็จะเปลี่ยนเพื่อคนอื่นเช่นกัน เพราะเมื่อเปลี่ยนแล้วเขาได้ผลเชิงบวกจากเรา เขาก็อยากได้จากคนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แล้วต่อไปเขาก็จะเป็นนายที่ดี และเพื่อนๆ ของเราก็จะลดความทุกข์จากการถูกอัดถูกด่าลงไป เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้นต่อการทำงาน ทำให้ทุกคนสามารถปฏิบัติงานได้ดีขึ้น (มั้ง)
เห็นไหมว่า ที่เราทำนั้นเพื่อทุกคน ไม่ได้เพื่อตัวเราเองนะ เพราะเรามีความรักความเมตตาอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจ เราจึงต้องหาแนวทางที่จะต้องทำ ซึ่งไม่สามารถทำตรงๆ ได้ ลองดูนะ ถ้าจะทำแบบตรงๆ ต้องทำอย่างไร แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มิสู้อ้อมแบบนี้ไม่ดีกว่าหรือ
จึงต้องเน้นย้ำอีกทีว่า เป้าหมายนั้นหนักแน่นสอดคล้องกับสัจธรรม-ธรรมชาตเดิมแท้ แต่วิธีการเท่านั้นที่ต้องเลือกใช้เพื่อให้ไปสู่เป้าหมายได้อย่างมี ประสิทธิผล อย่าเป็นคนตรงมาตรงไปกับวิธีการ ต้องอ้อม ต้องรอบ้าง แต่ตรงไปตรงมากับเป้าหมายเสมอ
ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ มันล่อแหลมระหว่างหลอกลวงกับจริงใจเสมอ ล่อแหลมระหว่างดีกับเลว และยังล่อแหลมระหว่างมารกับเทพเสมอ
(หมายเหตุ: เป็นความสามารถเฉพาะบุคคล การเลียนแบบต้องใช้เวลา อาจไม่สำเร็จในครั้งเดียว)

ไม่มีความคิดเห็น: