หน้าเว็บ

16 มกราคม 2554

พวกธรรมเนียมปฏิบัติ

แล้วมันไม่ดีตรงไหนที่จะเป็นพวกธรรมเนียมปฏิบัติ?
โดยปรกติแล้วการทำงานทุกกระบวนการมันต้องเป็น PDCA เมื่อได้คิดได้ทดลองว่าควรทำแบบนั้นแบบนี้ ลองทำแล้วแก้ไขปรับปรุงแล้ว ก็กำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติหรือวิธีปฏิบัติงาน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องยึดถือปฏิบัติ แต่... มันก็ต้องคิดต่อไปว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไรขึ้นมาอีก
Taiichi Ohno อดีต EPV ของ Toyota กล่าวว่า “คงมีปัญหาแน่ๆ ถ้าคนงานไม่ยอมสังเกตสิ่งรอบตัวทุกวันเพื่อหาสิ่งที่มันจำเจน่าเบื่อ แล้วทำการปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานเสียใหม่ แม้แต่คู่มือปฏิบัติงานของเดือนที่แล้วก็ควรจะถือว่า ล้าสมัยแล้ว



เมื่อมีวิธีการปฏิบัติงานใหม่เกิดขึ้น ก็มักมีปัญหาที่ผู้ปฏิบัติงานยังไม่ทราบ หรือยังคงปฏิบัติตามวิธีการแบบเก่า อันนี้อาจเป็นความผิดพลาดด้านการสื่อสาร แต่ถ้าสื่อสารแล้ว แต่เขา (ผู้นั้น) ไม่ยอมเปลี่ยน อันนี้ก็เขาผู้นั้นมีปัญหา
แต่ที่ว่าพวกธรรมเนียมปฏิบัติ (ถือว่าเป็นคำเหน็บแนมหรือเปล่า) แม้ว่าจะยึดถือปฏิบัติตามระบบระเบียบที่พัฒนามาจนเป็นรูปแบบที่เหมาะสมกับ กาลเวลาและบุคคลผู้ปฏิบัติ แต่ยังถูกเหน็บแนมก็เพราะว่า พวกเขาไม่คิดว่าวิธีการใหม่ๆ ที่ดีกว่าวิธีการเดิมๆ และพวกนี้ก็คือลูกหม้อ หรือรุ่นบุกเบิกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพวกที่เหน็บแนมก็พวกมาใหม่ไฟแรง
แล้วใครผิด?
ถ้าตัดสินตามสังคม ก็ต้องดูผลสุดท้ายว่าใครชนะ อีกฝ่ายจะเป็นฝ่ายผิดครับ (ประวัติศาสตร์เขียนดดยผู้ชนะ!!)
แต่หากมองด้วยความเป็นธรรม มันจะผิดทั้ง 2 ฝ่าย (จริงๆ แล้วไม่มีใครผิดหรอก แต่หาคำใช้ยาก และคนเรามักชอบที่จะหาคนผิดครับ เอาว่าใช้คำว่า ผิด ไปก่อน) เราพูดถึงสิ่งที่ควรทำดีกว่าไหม?
ฝ่ายธรรมเนียมปฏิบัติ (ที่ถูกกล่าวหา) ต้องรับฟังความคิดเห็นและพิจารณาด้วยความจริง ไร้อคติต่อวิธีการใหม่ๆ ที่มีการเสนอมา และใช้ความเก๋าให้เป็นประโยชน์ พิจารณาปรับปรุงให้สอดคล้องต้องกัน เล็กๆ น้อยๆ ก็ปรับปรุงไป ไม่ถือสาว่า “ถ้าไม่ใช่ความคิดเรา เราไม่ทำ” แต่เราเปิดกว้าง อะไรดี ไม่ว่าความคิดเห็นใคร เราจะนำมาปรับปรุงเพื่อส่วนรวม
ในขณะเดียวกัน พวกรุ่นใหม่ไฟแรง หากเสนอความคิดเห็นแล้วไม่ได้รับความเห็นชอบ ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าวิธีการนำเสนอของตนบกพร่องอะไร ทำไมไม่มีคนเห็นด้วย งดกล่าวโทษผู้อื่นว่าโง่ ไดโนเสาร์ ไม้ตายซาก ไม่ยอมเปลี่ยแปลงตามให้ทันโลก
และนี่ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการเมืองในองค์กร หากว่าผู้มีอำนาจเหนือกว่าไม่รู้จักวิธีจัดการกับความขัดแย้งหรือความแตก ต่างทางความคิดนี้
วันนี้ต้องการเน้นที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ายึดถือธรรมเนียมปฏิบัติมากไป หากเป็นเช่นที่ว่าจริง ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ นั้น มีจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์ใด เพราะต้องการบรรลุเป้าหมายที่ว่า จึงเกิดวิธีปฏิบัติงานขึ้นมา ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงจนได้วิธีการที่ดีที่สุด (ละมั้ง) ในช่วงสมัยหนึ่ง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ยังคงยึดถือวิธีปฏิบัตินั้นอย่างหัวปักหัวปำ ก็จะกลายเป็นพวกธรรมเนียมปฏิบัติที่ไม่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่ผุ้คนธรรมดามักเป็นไป เพราะลืมเป้าหมายไปเสียแล้ว ลืมไปว่าปฏิบัติเพื่ออะไร กลับไปยึดถือวิธีการอย่างเดียว จำเป็นต้องทบทวนตัวเองเสียใหม่ เน้นว่าจุดหมายคืออะไร แล้วถามอย่างสร้งสรรค์ทำนองที่ว่าทำไมต้องทำแบบเดิม เมื่อเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยน เทคโนโลยีเปลี่ยน แต่จุดหมายไม่เปลี่ยน (ถ้ายังไม่เปลี่ยน) ก็สมควรที่จะต้องคิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่สะดวก รวดเร็ว กระชับ และมีประสิทธิภาพ
ง่ายๆ โดยการถามว่าทำไมต้องทำแบบนั้น ทำแบบอื่นได้ไหม มีขั้นตอนใดไม่เกิดประโยชน์แล้ว ซ้ำซ้อนไหม ทำคู่ขนานได้ไหม ใครทำ คนอื่นทำได้ไหม ฯลฯ พูดง่ายๆ คือ 5W1H นั่นเอง
การยึดติดแต่รูปแบบวิธีการเดิมๆ นั้น ไม่ดีงามแน่ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เสมอ เพราะ คู่มือปฏิบัติงานของเดือนที่แล้วก็ควรจะถือว่า ล้าสมัยแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: