หน้าเว็บ

16 มกราคม 2554

ต้องตามอาวุโสหรือ?

เมื่อวาน (5 ส.ค. 2010) ได้ดูข่าวการคัดค้านการแต่งตั้งนายตำรวจผู้หนึ่ง ตอนท้ายข่าวได้กล่าวว่าหากแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวแล้วจะเป็นการข้ามหัวนาย ตำรวจที่อาวุโสกว่าถึง 7 นาย เกิดสะกิดใจเรื่องการแต่งตั้งพนักงานขึ้นมาจี๊ดเลยครับ
ทางราชการจะว่าอย่างไรก็เป็นเรื่องของราชการ แต่ถ้าเป็นเอกชนแล้วยังคำนึงถึงแต่อาวุโสแล้วก็ เห็นท่าว่าองค์กรนั้นกำลังก้าวสู่ภาวะล่มสลายแน่นอน แต่ว่าก็มีองค์กรเอกชนมากมายที่ทำตัวเช่นเดียวกับราชการ คือคิดแต่ความอาวุโสเป็นสำคัญแล้วแต่งตั้งพนักงานเข้าดำรงตำแหน่งตามลำดับ อาวุโส ลืมไปหรือเปล่าว่าความสามารถต้องมาก่อน เพื่อนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ



“การ แต่งตั้งคนผลงานไม่ดีไว้ในตำแหน่งผู้นำ เป็นการลดมาตรฐานให้กับทุกๆ คน ซึ่งเป็นอันตรายที่ร้ายแรงต่อองค์กรที่ต้องการสร้างวัฒนธรรมแห่งการสร้างผล งาน ผู้ที่มีผลงานไม่ดีก็ชอบที่จะว่าจ้างคนที่ผลงานไม่ดี และการที่พวกเขาเหล่านั้นยังคงอยู่ในองค์กรก็ยิ่งเป็นการบั่นทอนกำลังใจของ คนที่อยู่รอบตัวเขาและทำให้กลายเป็นองค์กรที่คนที่มีความสามารถสูงให้ความ สนใจน้อยลง และทำให้เกิดข้อสงสัยในความสามารถของตัวผู้นำนั้น” (Beth Axelrod, Helen Handfield-Jones, Ed Michaels (McKinsey & Company)
ในส่วนของคนไทยเรานั้น หากพบภายหลังว่าคนที่เราแต่งตั้งไปนั้นไม่สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่คาดหวัง แล้วจะถอดถอนเอาตำแหน่งคืนนั้นก็ดูเป็นเรื่องยาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ที่แต่งตั้งไม่ยอมรับว่าตนเองประเมินคนผิดพลาด แล้วยังพยายามกลบเกลื่อนด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แต่...โปรดพิจารณาด้วยว่าอันธรรมชาติของคนไทยเรานั้น หากได้รับการแต่งตั้งแล้ว อีกไม่นานก็ถูกถอดถอนเพราะบกพร่องด้านความสามารถ เขาจะรู้สึกอย่างไร คนไทยอย่างเราๆ ไม่ค่อยจะยอมรับในเรื่องเหล่านี้ มันเป็นการเสียหน้า ถูกหยามหน้า ทั้งบนทั้งล่างต่างคิดเช่นนี้ ก็เลยต้องหวานอมขมกลืนต่อไป องค์กรจะเป็นยังไงช่างหัวมัน แล้วคนแต่งตั้งคนที่ไม่มีความสามารถเข้าดำรงตำแหน่งนี้ จะถือว่าขาดความสามารถในการประเมินคนด้วยหรือเปล่า ด้วยความเป็นธรรมแล้วมันน่าจะปลดคนที่แต่งตั้งนี้ออกไปด้วยใช่ไหมท่าน
หัวหน้าทุกคนต้องทำตนให้เป็นผู้มีประสิทธิผลสูงก่อน มีความเป็นธรรม ยุติธรรม ไม่แต่งตั้งเฉพาะคนที่อาวุโสหรือคนสนิท
ในเรื่องของคนสนิทนี้ ก็มีคำคมกล่าวไว้อยู่ว่า “ผู้บริหารที่ใช้งานคนสนิทเป็นเรื่องปกติ แต่ผู้บริหารที่ใช้งานคนอื่นอย่างคนสนิทคือนักบริหารที่แท้จริง” คนเก่งคนมีความสามารถสูงนั้น เขาอาจไม่ได้ทำตัวสนิทสนมกับหัวหน้าก็ได้ เพราะเขามีความภาคภูมิใจในตนเองสูง เขาเชื่อมั่นว่าผลงานจะเป็นสิ่งที่ผลักดันเขาไปสู่ความสำเร็จ แต่ถ้าหากเขาถูกข้ามหัวในเรื่องการแต่งตั้งแต่คนสนิทหรือตามอาวุโสแล้วจะ เป็นเช่นไร ความเชื่อมั่นในความสามารถของเขา จะชักนำเขาให้ตีตัวออกห่างและเสาะหาที่พักพิงใหม่ที่คิดว่าเป็นไปตามอุดมคติ แล้วคนที่เป็นหัวหน้าของคนเก่งคนนี้ จะไม่ถูกมองว่าไม่สามารถเลี้ยงคนเก่งไว้ได้หรือ (จริงๆ แล้วในองค์กรไทยเรา ไม่ค่อยมีใครมองเห็นซะด้วย)
การเป็นหัวหน้าจึงต้องสร้างลูกน้องให้ได้ผลงานสูงสุด โดดเด่นเหนือใคร แล้วสนับสนุนเขาให้ประสบความสำเร็จ ชนิดที่ว่าเอาตัวเข้าแลกเลย อย่างนี้ลูกน้องย่อมศรัทธา คนดีๆ ก็จะหลั่งไหลเข้ามาสู่ แต่หากว่าลูกน้องยังไม่มีคุณสมบัติที่ดีพอ ก็ไม่น่าจะสนับสนุนเขา ไม่ควรส่งเสริมเขาให้ได้รับตำแหน่ง เพราะอาจไม่ใช่เป็นการช่วยให้เขาก้าวหน้าแต่เป็นการส่งเขาไปตายมากกว่า
ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องประเมินคู่แข่งขันด้วย บางทีเราก็เห็นว่าลูกน้องเรายังไม่เยี่ยมพอ แต่คู่แข่งขันกลับด้อยกว่า เราก็ต้องไม่ให้คนที่ด้อยกว่าได้ตำแหน่งนั้นไป หากจะได้ก็ควรเป็นลูกน้องตัวกลั่นของเรา แต่ต้องบอกกล่าวต่อผู้บังคับบัญชาของเรา และตัวลูกน้องเราด้วยความเป็นจริง แล้วเร่งรัดพัฒนาเขาทันทีพร้อมกับที่เขาได้ตำแหน่งใหม่นั้น

ไม่มีความคิดเห็น: