หน้าเว็บ

18 มกราคม 2554

จอมปลอมหรือจริงใจ?

จากการบรรยายเรื่องการใช้จิตวิทยาเพื่อการบริหาร กำลังพูดถึงการชมเชยผู้อื่นอย่างจริงใจ ก็มีเสียงเล็กๆ เบาๆ ขึ้นมาว่า ประจบสอพลอหลอกลวงหรือเปล่า ทำให้ได้สะดุดคิดทันทีว่า “จริงใจ” กับ “จอมปลอม” นั้นห่างกันเพียงเส้นใยบางๆ เส้นเดียว เปลาะบางมากเลยหากไม่พูดให้เข้าใจอย่างชัดเจน
จริงๆ แล้วการใช้จิตวิทยานั้นมันก็เป็นดาบสองคม เพียงขาดซึ่งความจริงใจต้องการหลอกใช้ หรือเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนแล้วถือว่าอันตรายมาก ถูกจับได้เมื่อไรก็จะไม่มีคนเชื่อถืออีกเลย แต่ที่ว่าจริงใจนั้นมันเป็นอย่างไรกัน


หากว่าเราต้องการโน้มน้าว สร้างขวัญกำลังใจเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงอย่างยอดเยี่ยม แล้วเป็นผลดีต่อตัวเขาเองที่ทำงานประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับ หรือเพื่อการพัฒนาความรู้ความสามารถของเขา เพื่อให้เขาได้เดินในทางที่ถูกต้องหรือสรุปง่ายๆ ว่าผู้ใช้จิตวิทยาต้องอยู่บนพื้นฐานของความรักความเมตตา ต้องการให้เขาประสบความสำเร็จแล้ว จะถือว่าสอพลอหลอกลวงหรือไม่
ตัวอย่างเช่น “ที่ผ่านมาผมเห็นว่าคุณทำรายงานออกมาดีมาก มีการรวบรวมข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสม เชื่อถือได้ แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างละเอียด แสดงผลออกมาเห็นแนวโน้มได้อย่างชัดเจน และพอดีว่าวันนี้มีงานแบบนั้นมาอีกแล้ว สำคัญมากด้วย ผมไม่ไว้ใจให้คนอื่นทำนอกจากคุณ คุณช่วยทำให้ผมได้ไหม คิดว่าจะส่งให้ผมในวันพฤหัสหรือวันศุกร์ดี”
ในรายละเอียดของการพูดเช่นนี้เป็นลักษณะของการใช้แรงเฉื่อย หรือการตีตรามอบโล่ห์ ให้เขาทราบว่าเราเห็นผลงานของเขานะ งานเขาดีเยี่ยมนะ และเขาเท่านั้นที่เราไว้ใจที่จะให้ทำงานนี้ ตอนท้ายได้ขอร้องให้ช่วย และยังจำกัดทางเลือกวันแล้วเสร็จให้ด้วย
ทีนี้สิ่งที่พิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับการชมเขานั้น เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าไม่ใช่เรื่องจริงก็คือการหลอกใช้ แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงก็เป็นเรื่องที่เขาจะภาคภูมิใจไม่ใช่หรือที่เขา อุตส่าห์ทำงานมาอย่างสุดฝีมือแล้วมีคนรู้มีคนเห็น และให้ความสำคัญกับผลงานของเขา เป็นธรรมชาติอยู่ว่า เมื่อใครเขาเห็นเรามีความสำคัญแล้ว เราก็อยากเก็บเขาเอาไว้เพื่อจะได้เห็นความสำคัญของเราต่อไปใช่ไหม และนี่คือความเป็นนักบริหารหรือผู้นำที่มีประสิทธิผลสูงของเราใช่หรือไม่ ที่มองคนออกว่าแต่ละคนมีดีอย่างไร
ถามจริงๆ เถอะ เคยน้อยใจไหมที่อุตส่าห์ทำงานมาอย่างทุ่มเท แต่ไม่มีใครที่ไหนเห็นคุณค่าของงานเรา แล้วถ้ามีคนที่เห็นคุณค่าของงานนั้นเล่า เรารู้สึกอย่างไร
ยังเป็นที่ถกเถียงกันต่อไปอีกว่า ก็ในเมื่อจะใช้เขาทำงาน ก็บอกตรงๆ ไปเลย ไม่บริสุทธิ์ใจกว่าหรือ เขาเป็นลูกน้อง เขาก็ต้องทำให้อยู่แล้ว ก็ใช่อยู่แล้วครับ แต่ดูไร้น้ำใจไปหรือเปล่า แสดงความเป็นเจ้านายเกินไปหรือเปล่า คนนะครับไม่ใช่เครื่องจักร กดปุ่มแล้วจะได้ทำงานให้ทันที เมื่อเป็นคนก็ต้องมีอารมณ์ความรู้สึก (หรือใครหมดแล้วซึ่งอารมณ์ความรู้สึก) สร้างอารมณ์ให้เขาภาคภูมิใจก่อนไม่ดีกว่าหรือ
และที่สำคัญ ยังเป็นการแสดงถึงการยอมรับในความเท่าเทียมกันในความเป็นคน ไม่ได้ใช้นะแม้ว่าจะเป็นหัวหน้า เพียงแต่ขอร้องให้ช่วยด้วยปิยวาจา
ผมก็เคยเป็นลูกน้อง และมีหลายนายด้วย (ย้ายไปอยู่กับนายหลายๆ คน ตามตำแหน่งใหม่ที่ได้รับ) ผมชอบที่นายจะเห็นผลงานที่ผมทุ่มเทแรงกายแรงใจลงไป และมีบ้างที่นายบางคนไม่เคยเห็น ก็ได้แต่ปลงว่ามันเป็นเวรเป็นกรรมของเรา ที่เทวดาฟ้าดินไม่เห็น อย่าว่าแต่เทวดาเล้ย! หมามันยังไม่เห็น!!!
นั่นก็เป็นสมัยที่ยังเด็กอยู่นะ ตอนนี้อายุก็ล่วงเลยมามากแล้ว เลยมีวิธีจัดการกับนายที่ไม่เห็นผลงานที่ทุ่มเทของเราแล้ว ไม่งั้นงานเราก็สูญเปล่า เดี๋ยวปลายปีจะนึกไม่ออกว่าเราทำอะไรหนักหนาสาหัสมาบ้าง เรียกว่าต้องเล่นการตลาดการประชาสัมพันธ์ตัวเองนิดหน่อย

ไม่มีความคิดเห็น: