หน้าเว็บ

31 ตุลาคม 2553

อุปนิสัยแห่งมืออาชีพ-ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

สงสัยว่าในโลกนี้ มีคนที่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในครั้งแรกเลยหรือไม่? มันก็น่าจะมีบ้าง แต่อัตราส่วนเท่าไร?
คำถามข้างบน ไม่น่าสนใจเท่ากับคำถามที่ว่า เมื่อทำผิดพลาดหรือไม่เหมาะสมใครั้งแรกแล้ว เขาจะทำอย่างไรต่อจากนั้น?
คนทั่วไป (ถือว่าเป็นธธรมชาติของคนได้ไหม) ที่เมื่อเจอเหตุการณ์แบบนี้แล้วก็จะหาใครสักคน หรือสักกลุ่มที่จะได้ระบายความผิดพลาด

เพื่อจะหาคำปลอบโยนจากเพื่อนๆ ว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่ทำงานต้องมีความผิดพลาดบ้าง อาจต้องมีน้ำอมฤตมาช่วยประโลมใจด้วย ปลอบกันไปปลอบกันมาแล้วก็หาแพะสักตัวสองตัวเพื่อเอามาเซ่นสังเวยว่า เป็นสาเหตุแห่งความผิดพลาดล้มเหลวนั้น
หาแพะไม่ได้ ก็จะกล่าวหาเทวดาฟ้าดิน ที่กำหนดโชคชะตามาให้ลูกช้างอย่างน่าสังเวช ช่างไม่เป็นธรรมเอาเสียเลย เทวดาลำเอียง
แต่... เดี๋ยวก่อน!!!
คนที่ประสบความสำเร็จ เขาเป็นนี้ด้วยหรือไม่
ในขณะที่คนธรรมดาเหล่านั้นต่างปลอบประโลมใจกัน เพื่อยอมรับในความสามารถว่าพวกเขาจะทำได้เพียงแค่นั้น และภาวนาว่าขออย่าให้ได้เจอกับเหตุการณ์ร้ายอันไร้ความยุติธรรมเหล่านั้นอีก ขอเทวดาฟ้าดินโปรดเมตตา (และรู้จักสอดส่องดูแลพวกเราเสียบ้าง-อย่าลำเอียง) ให้พวกข้าน้อยได้ประสบความสำเร็จด้วยสติปัญญาอันน้อนนิดและความพยายามที่มี อยู่เท่าเลือดปู (พวกเราเหล่า CPU ต่ำ RAM น้อย) ด้วยเทอญ แล้วปวงข้าน้อยจะตอบแทนบุญคุณท่านด้วยไข่ต้ม 100 ฟอง พร้อมรำถวายแบบโคโยตี้
สิ่งนี้เป็นพื้นฐานด้านกรอบความคิดอย่างหนึ่งนะ กรอบความคิดของเราเป็นเช่นไร พ่ายแพ้แล้วชวนตีหรือไม่ ล้มเหลวแล้วกล่าวโทษสิ่งอื่นหรือไม่ ความจริงแล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ากรอบความคิดเขาเป็นเช่นไร ปัญหาคือพวกเขาเหล่านั้นไม่ได้ตรวจสอบหรือไม่ได้ระแคะระคายเกี่ยวกับกรอบ ความคิดเหล่านี้เลย (เป็นกรรมเป็นเวรของพวกเขาจริงๆ)
เรามาดูนะ คนที่ประสบความเร็จมีกรอบความคิดในเรื่องเหล่านี้เป็นเช่นใด คนที่ประสบความสำเร็จ เขามีกรอบความคิดต่อความผิดพลาดล้มเหลวอย่างไร
เมื่อผิดพลาดล้มเหลว พวกนี้ (ใช้คำว่า "พวก" เพื่อให้อุ่นใจว่ามีอยู่เยอะ) จะพิจารณาผลที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน และจัดการกับผลกระทบนั้นก่อนเพื่อไม่ให้ลุกลามไปสู่ส่วนอื่นๆ เบ็ดเสร็จแล้วก็จะกลับมาพิจารณาสาเหตุต้นตออย่างเป็นระบบ โดยไม่โทษสิ่งอื่น เช่นไม่ได้โทษว่าเพราะฝ่ายนี้ไม่ให้ความร่วมมือ แต่จะคิดว่าการประสานงานด้านความร่วมมือกับฝ่ายนี้ต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร บ้าง เน้นนะ เป็นกรอบความคิดแบบนี้นะ ที่เขาไม่ให้ความร่วมมือ เพราะเราประสานงานหรือวางแผนผิดพลาดไปแล้วนะ เราทำให้เขาเห็นความสำคัญของงานได้ไม่พอนะ เขาจึงไม่ได้ให้ความสำคัญต่อความร่วมมือ
ด้วยกรอบความคิดทำนองนี้ ไม่โทษสิ่งอื่น และไม่ยอมทำตัวเองเป็นเหยื่ออันโอชะของโชคชะตา แล้วหาทางปรับปรุงเพื่ออุดช่องว่างช่องโหว่ในการที่จะต้องดำเนินการทำนองนี้ ต่อไปในอนาคต เป็นการสั่งสมประสบการณ์ มากเข้าๆ ก็กลายเป็นมืออาชีพ ที่คิดการณ์ใดก็จะหาช่องว่างช่องโหว่ไม่ได้
นับแต่นี้ต่อไป หากผิดพลาดล้มเหลว ก็เพียงยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ไม่ธรรมดา และต่างจากคนธรรมดาทั่วไปตรงที่ แทนที่จะสาปแช่งโชคชะตา หาเพื่อระบายเพื่อจะได้ยอมรับมาตรฐานที่ต่ำต้อยนั้นไว้ นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังบ่อนทำลายจิตวิญญาณแห่งมืออาชีพ ที่ไม่ย่นย่อต่อชะตากรรม และมุ่งมั่นฝ่าฟันต่อไป ล้มแล้วก็ลุกขึ้นมาเพื่อเตรียมตัวที่จะล้มต่อไป แต่จะไม่ล้มในท่าเดิมแล้ว เพราะได้วิเคราะห์แล้ว หาทางปรับปรุงแก้ไขไว้แล้ว
ไม่ได้เพียงยอมรับว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อาจมีความผิดพลาดได้บ้าง แล้วไม่ทำอะไร กลับปลอบใจตัวเองว่าปลงได้แล้ว
ปลงหรือขาดปัญญากันแน่ ล่อแหลมนะ เห็นหลายๆ คนบอกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ปลงซะเถอะ ถ้าจะปลงกับผลที่เกิดขึ้น แล้วไม่ทำอะไรต่อ ก็เหมือนยอมรับว่าครั้งต่อไปก็อาจเกิดขึ้นได้อีกเป็นเรื่องธรรมดา อย่างนี้ถือว่าไม่มีปัญญาแล้ว
แน่นอนว่าต้องปลงกับผลที่เกิดขึ้น ยอมรับผลอย่าหน้าชื่นตามบาน แต่ไม่ยอมรับนะที่ครั้งต่อไปจะเกิดผลซ้ำๆ แบบเดิมๆ เขาแยกแยะนะ
มันคือจิตใจแห่งการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง - ได้ไหม?

ไม่มีความคิดเห็น: