หน้าเว็บ

08 ตุลาคม 2553

เทพสยบมาร 3

สาระสำคัญของการสยบมาร คือความพร้อมของตนเอง ต้องถามตนเองก่อนว่าตนนั้นเป็นเทพขั้นไหน แข็งแกร่งมีพละกำลังเพียงพอหรือไม่ พละกำลังในที่นี้ไม่ใช่กำลังอำนาจแบบกองกำลัง หรือใช้พวกมากลากไป แต่เป็นพละกำลังจากคุณความดีอันเป็นบารมีที่สั่งสมมา
นึงถึงมะพร้าวนาฬิเกร์ในสวนโมกข์ที่ท่านพุทธทาสทำไว้ – มะพร้าวเอ๋ย มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง อยู่กลางทะเลขี้ผึ้ง ถึงแต่ผู้พ้นบุญเอย

ฝน ตกก็ไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง มหัศจรรย์อะไรเช่นนั้น อันว่าตัวเรานี้ผ่องแผ้วจากสิ่งแปดเปื้อนทำตัวให้สะอาดหมดจดได้เพียงใด คุณความดีนั้นไม่มีเพดาน ไม่ว่าผลประโยชน์จะยั่วเย้าเพียงใดก็ไม่ใส่ใจ ไม่เคยแสวงหาประโยชน์จากช่องว่างของระเบียบ หรือใช้อำนาจของตน เช่น ... อย่ายกตัวอย่างเลย เดี๋ยวตรงกับใครแล้วจี๊ดขึ้น สิ่งเหล่านี้มันเย้ายวนจริงๆ นะ แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ยังยั้งใจไม่อยู่ แล้วเรื่องใหญ่ๆ จะเอาอยู่หรือ เพดานแห่งความดีต่ำมาก บางคนยึดมั่นสุจริตในเพดานหนึ่งแสน ถ้าได้แสนแล้วก็ยอมที่จะละเลยความถูกต้องดีงาม (อย่าแต่แสนเลย พันเดียวก็ละลายแล้วนะบางคนน่ะ!) นี่แหละเพดานของความดี ความดีต้องไม่มีเพดาน ไม่ว่าเท่าไรก็ไม่เอา... ถ้าไม่ใช่เธอ (ความถูกต้องดีงาม) ก็ไม่เอา
อย่าได้เปรียบเทียบกับผู้อื่นเลย คนอื่นจะเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา แต่เราคือตัวเราที่หนักแน่นดังขุนเขา จัดการตนเองได้ดีแล้วจะเกิดพลังอำนาจขึ้นมาเองที่สามารถคานอำนาจอันมิชอบได้ บางคนไม่สามารถดีได้เพราะคนอื่นไม่ดี เรียกว่าเลวตามเขาไป บางคนไม่ดีเพราะมัวแต่โยนความผิดให้สิ่งอื่น... “เมื่อใดที่คุณโทษความอ่อนด้อยของคนอื่นว่าเป็นต้นเหตุให้คุณมีปัญหาทาง อารมณ์ ก็เท่ากับคุณมอบเสรีภาพทางอารมณ์ของคุณให้คนผู้นั้นไปแล้ว และอนุญาตให้เขาทำให้ชีวิตคุณปั่นป่วนต่อไปเรื่อยๆ นี่แหละคือ การที่อดีตของเรายึดอนาคตเอาไว้เป็นตัวประกัน (The 8th Habit: Stephen R. Covey)” ซึ่งก็เหมือนกับ “แทนที่จะสาปแช่งความมืด มิสู้จุดเทียนให้สว่างจะดีกว่า”
สรุปง่ายๆ ก่อนว่า การผจญมารนั้น สิ่งที่ต้องคิดเป็นอันดับแรกๆ ให้เป็นกรอบความคิดของเราก็คือ... อย่ายอมเป็นเหยื่อ เพราะ “การเห็นว่าตนเองเป็นผู้รับเคราะห์ (เหยื่อ) ย่อมเท่ากับยอมทิ้งอนาคตของตนไป (The 8th Habit: Stephen R. Covey)” เมื่อไม่ยอมเป็นเหยื่อแล้วต้องใช้ปัญญาเข้าต่อกร แต่ก่อนที่จะต่อกรก็ต้องจัดการตัวเองให้มีพลังอำนาจแห่งความดีก่อน อย่าท้อถอย ให้คิดว่ามารจะเป็นตัวช่วยเสริมสร้างอินทรีย์บารมีแก่เรา ยิ่งผจญมารมากเรายิ่งแข็งแกร่ง ดังที่จังซีเหากล่าวไว้ใน “จุดไฟปัญญาให้โชติช่วง” ว่า “ปะการังที่อยู่ในแนวหิน เติบโตขึ้นมาในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีการท้าทายเลย จึงอ่อนแอและไม่โต แต่ปะการังที่อยู่นอกแนวหิน ต้องต่อสู้กับการจู่โจมของคลื่นทะเลทุกวี่วัน จึงเข้มแข็งและเติบใหญ่” หรือที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ในหัวข้อ “มีมาร – ไม่มีมาร” ว่า...
มารไม่มี บารมี ยิ่งไม่แก่
จะมีแต่ ถดถอย หมดความหมาย
ไม่มีพลัง สร้างวิบาก ให้มากมาย
หรือสอบไล่ ให้เรา เข้าใจตัว ฯ
มารยิ่งมี บารมี ยิ่งแก่กล้า
ยิ่งรุดหน้า สามารถ ในธรรมทั่ว
สร้างวิบาก ได้มากมาย ไม่เนียนัว
ให้ดอกบัว เบ่งบาน สะท้านสะเทือน ฯ
แล้วประหัตประหาร มารร้าย ให้ตายเตียน
ได้แนบเนียน ไม่มี อะไรเหมือน
เมื่อมีมาร ก็เหมือนมาร มาตักเตือน
ให้พบเงื่อน งำกล้า ฆ่ามารเอง ฯ

ไม่มีความคิดเห็น: