หน้าเว็บ

02 พฤศจิกายน 2553

มืออาชีพกับการแสดงความคิดเห็น

มืออาชีพต้องมีคุณสมบัติเยี่ยงไร? จะไม่ขอตอบเชิงทฤษฎี แต่จะเล่าพฤติกรรมดีกว่าไหม
ในระหว่างการประชุมปรึกษาหารือกัน เราได้แสดงความคิดเห็น ข้อมูลที่เป็นจริงออกมาอย่างไร แสดงออกมาในระหว่างการประชุม หรือหลังจากประชุมเสร็จแล้ว แสดงออกมาด้วยความนุ่มนวล หรือก้าวร้าวดุดัน


โดย ทั่วไปของคนไทยเรามักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นออกมาในที่ประชุม เพราะเกรงว่าจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเมื่อศึกษาพิจารณาแล้วก็เห็นว่าไม่น่าลงทุน จึงสงวนท่าทีไว้ก่อน จบประชุมเมื่อไรออกมานอกห้องแล้วจึงแสดงความคิดเห็นอย่างเมามัน
และในขณะเดียวกันมีบ้างที่กล้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม แต่แฝงด้วยความก้าวร้าว กระแหนะกระแหน ประชดประเทียดแดกดัน จะเอากันให้ตายหรือโคม่ากันไปข้างหนึ่ง หักหน้าให้ได้อาย เชือดเฉือนด้วยใบมีดโกนอาบน้ำผึ้ง ไม่เว้นหน้าอินทร์หน้าพรหม บางคนถึงกับกล้าคัดค้านนายด้วยความสะใจเฮฮากันทั่วห้องทั้งตนเองและพวกพ้อง
ความจริงแล้ว ก็ไม่ต้องสนใจกับเรื่องความเป็นอาชีพหรือไม่ ต้องการเป็นเพียงให้พวกเราเป็นผู้ที่สามารถใช้ปัญญาและความเคารพในความเป็น มนุษย์ที่เท่าเทียมกัน สุภาพอ่อนน้อมถ่อมตนแต่แข็งแกร่งมีพลัง และประเมินตนเองอยู่เสมอว่าเราอยู่ในฐานะลูกจ้างคนหนึ่งเท่านั้น ที่ต้องเข้าใจในความเป็นนายความเป็นเถ้าแก่ ทำนองว่าแม้จะเป็นลูกจ้างแต่ก็คิดในมุมมองของเถ้าแก่หรือนายได้บ้าง
ไม่ใช่ว่าต้องรู้ใจนายไปหมดซะทุกเรื่อง รู้ใจมากไปนายจะระแวงเอาได้ เหมือนโจโฉและตัดคอลูกน้องเพราะรู้ทันกับรหัสลับว่า “ขาไก่” เอาเพียงแค่รู้จักาละเทศะ รู้หน้าที่ว่าต้องเสนอข้อเท็จจริงให้นายทราบ เสนอแนวทางต่างๆ ที่เป็นไปได้ (อย่างน้อย 2 ทาง) ให้นายพิจารณาตัดสินใจ เมื่อนายตัดสินใจแล้ว แม้จะเป็นไปตามที่เราเสนอไอเดียหรือไม่ก็ตาม เราก็มีหน้าที่เพียงทำตามที่นายตัดสินใจ ไม่วิจารณ์การตัดสินใจของนาย เพราะอาจมีบางสิ่งที่เราไม่รู้ซึ่งที่นายไม่ได้บอก หรือไม่สามารถบอกได้
เข้าใจบทบาทหน้าที่ว่าได้เสนอความคิดเห็นข้อเท็จจริงแล้ว ส่วนหน้าที่การตัดสินใจเป็นหน้าที่ของนาย และเมื่อนายตัดสินใจแล้ว หน้าที่ต่อมาก็คือปฏิบัติตามนั้นแม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม
หากนายเห็นด้วย ตัดสินตามที่เราเสนอ ก็ไม่ต้องอวดอ้างว่าเป็นความคิดของเราให้นายหมั่นไส้ ดีไม่ดีไม่อาจยกเลิกโครงการกลางครัน โครงการแท้งเอาง่ายๆ ไม่ต้องหรอกกับการหาความดีใส่ตัว เรื่องการหาความดีใส่ตัวเป็นเรื่องของคนไม่ค่อยจะมีความดี เราดีเราเก่งอยู่แล้ว ถึงไม่มีใครบอกใครยอมรับอย่างออกหน้าออกตา แต่เขาก็ทราบกันทั้งนั้นแหละครับ คนทั่วไปส่วนใหญ่เขาไม่อยากเห็นใครดีกว่าหรอก เพราะจะทำให้ตัวเองรู้สึกต่ำต้อยลง การไม่อวดอ้างแต่กลับถ่อมตนจะทำให้เป็นที่รักของชนทั่วไป
ปฏิบัติตามผลการตัดสินใจของนายที่ไม่เป็นไปตามที่เราเสนอไอเดีย แล้วผลออกมาไม่ดี เกิดความเสียหายผิดพลาดขึ้น ก็ไม่ต้องไปสะใจว่า “น่านงัย! ตูว่าแล้ว” เพียงสำนึกในหน้าที่ต่อมาก็คือการดำเนินการแก้ไข หรือเสนอแนวทางแก้ไขต่อไปไม่หยุดยั้งตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ
จะเอาอะไรนักหนากับชีวิตลูกจ้างอาชีพ

ไม่มีความคิดเห็น: