หน้าเว็บ

04 กุมภาพันธ์ 2554

ผู้บริหารแบบ X หรือ Y ดีกว่ากัน?

จากการบรรยายเรื่องการบริหารโครงการที่กล่าวถึงทักษะที่จำเป็นของหัวหน้า โครงการหรือผู้จัดการโครงการ ได้กล่าวถึงการบริหารแบบทฤษฎี Y นั้นได้ผลกว่าการบริหารแบบทฤษฎี X แล้วก็ได้เรื่องเลย ช่วงพักเบรคมีผู้ฟังบรรยายเข้ามาถามด้วยความสุภาพว่าที่พูดมานั้นมีหลักฐาน อ้างอิงหรือไม่

ทฤษฎี X, Y ของดักลาส แม็กเกรเกอร์ กล่าวถึงการบริหารเชิง X ว่าพนักงานจะให้การตอบสนองเช่นเดียวกับการให้แครอตเป็นรางวัล และการใช้ไม้บังคับ ผู้บริหารแบบ X จะเว้นระยะห่างกับทีมงาน เพื่อจะได้ควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนการบริหารแบบทฤษฎี Y กล่าวว่างานคือที่มาของความพึงพอใจของพนักงาน และพวกเขาจะต่อสู้เพื่อให้งานออกมาดี ซึ่งผู้บริหารแบบ Y จะให้ความนับถือพนักงาน ขณะเดียวกันก็ได้รับความนับถือจากพนักงานด้วย

ไหนๆ ก็ X, Y แล้ว เอาทฤษฎี Z ของวิเลี่ยม จี. โออูชิ ซึ่งรวมหลักการของทฤษฎี X , Y เข้าด้วยกัน แนวความคิดก็คือ องค์กรต้องมีหลักเกณฑ์ที่ควบคุมมนุษย์ แต่มนุษย์ก็รักความเป็นอิสระ และมีความต้องการ หน้าที่ของผู้บริหารจึงต้องปรับเป้าหมายขององค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายของ บุคคลในองค์กร ทฤษฎี Z มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการคือ หนึ่งการทำให้ปรัชญาที่กำหนดไว้บรรลุ สองการพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามการให้ความไว้วางใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และสี่การให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ผมไม่ขออ้างอิงหลักฐานทางวิชาการนะครับว่า X หรือ Y ดีกว่ากัน แต่อ้างอิงถึงจิตใจของพวกเราเองแล้วกัน ขอถามใจท่านว่า ท่านชอบการบังคับหรือไม่ ท่านชอบที่จะให้ผู้อื่นหรือหัวหน้ามองท่านเพียงมนุษย์เงินเดือนที่เพียงทำ งานตามสั่ง ไม่นึกถึงความต้องการแห่งศักดิ์ศรีความเป็นคนของท่านหรือ ท่านชอบไหมที่จะมีคนหรือหัวหน้าที่ให้เกียรติท่าน ยอมรับว่าท่านก็คือมนุษย์คนหนึ่งที่ยังมีอารมณ์ความรู้สึกอยู่ ท่านยังต้องการให้ผู้อื่นยอมรับในตัวตนของท่าน ท่านยังอยากมีความสำคัญในกลุ่ม ในองค์กรอยู่หรือไม่
อีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ ค่าการกระจายของบุคลากรในองค์กรทั่วๆ ไป จะเป็นรูประฆังคว่ำแบบโค้งปรกติ ซึ่งจะสามารถแบ่งคนตามความสามารถและความรับผิดชอบได้อย่างน้อย 3 กลุ่มด้วยกัน คือกลุ่มไม่เอาไหน กลุ่มกลางๆ และกลุ่มดาวรุ่ง ซึ่งกลุ่มดาวรุ่งนี้มีไม่มากนัก แต่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในองค์กร เป็นกลุ่มที่พัฒนาสร้างสรรค์ มีผลงานเป็นเลิศนำพาองค์กรสู่ความสำเร็จ ซึ่งบุคคลประเภทนี้ก็ไม่ได้เป็นพวกที่จะสามารถบริหารจัดการเขาได้ง่ายๆ ถึงต้องมีตำราเกี่ยวกับการบริหารคนเก่งออกมามากมาย (Talent People Management)
จริงๆ แล้วผู้ที่เข้ามาถามปัญหาผมนั้นดูเหมือนจะเข้าใจอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องการคำยืนยันเพิ่มเติม เพราะเมื่อคุยกันสักพัก สายตาเขาส่อว่าเข้าใจอยู่แล้ว แต่เขาถามต่อมาซิน่าสนใจกว่า เขาถามว่า เมื่อมันเป็นเช่นนั้น ทำไมผู้บริหารหรือหัวหน้างานชาวไทยเรา หรือผู้เป็นใหญ่เป็นโตในบ้านเมืองเราหลายๆ คน ถึงยังคงใช้การบริหารแบบ X อยู่
ผ่านครับ! คำถามนี้ไม่อยากตอบเลย เป็นคุณ คุณจะตอบว่าอย่างไรครับ!!! น่าจะรู้ๆ กันอยู่มั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: