หน้าเว็บ

01 สิงหาคม 2553

ความจำเป็นของการบริหารแบบมีส่วนร่วม

ในยุคของคนทำงานโดยอาศัยความรู้ งานแต่ละอย่างไม่ได้ใช้เพียงความรู้ความสามารถในด้านเดียว แต่ต้องอาศัยความรู้ประสบการณ์จากหลายๆ ด้านประกอบกัน และขณะเดียวกันคนที่รู้ลักษณะปัญหา สาเหตุปัญหา และจะแก้ปัญหาได้ดีที่สุดคือคนที่อยู่กับปัญหานั้น
แต่เขาจะใช้ศักยภาพของเขาหรือไม่ ก็อยู่ที่บรรยากาศ


เห็นมาก็มากที่ว่าเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น หรือแม้แต่ต้องการปรับปรุงงาน ออกแบบงานอะไรก็ตาม หัวหน้าใหญ่ก็จะแสดงความเก่งกล้าสามารถแต่ผู้เดียว เด็กๆ ได้แต่รับฟัง ไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น เพราะเกรงว่าหากแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงใจท่าน ก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน และเมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงแล้ว ก็ไม่น่าลงทุน ก็สรุปเอาว่าอยู่เฉยๆ ดีกว่า

นึกถึงหนังสือเล่มแดงๆ ชื่อ The Toyota Way ที่แปลจาก Toyota No Kaigai Keiei โดย Imai Hiroshi ที่ว่า
...ลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของคนไทยที่มักจะถูกกล่าวถึงก็คือ การมีอัตตาในที่ทำงานนั้น หากใช้อัตตามากเกินไป ก็จะกลายเป็นเผด็จการได้...
และ
...คนไทยจะยึดถือมารยาทตามระดับชั้นทางสังคม มักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นในการประชุมที่หัวหน้าโดยตรงของตนและผู้บริหาร ระดับสูงของบริษัทเข้าร่วมประชุม มักนั่งเงียบ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น เกิดความเกรงใจ และยังสนับสนุนความเห็นของหัวหน้าอีกด้วย การปฏิบัติตัวแบบนี้ จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนาธุรกิจ...
การสูญเสียประการที่ 8 คือการสูญเสียจากไม่นำความคิดเห็นของพนักงานมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หนักหนาสาหัสกว่าความสูญเสีย 7 ประการ ก็เป็นไปด้วยประการนี้
ใครผิดเอ่ย...
อย่าไปโทษเด็กๆ เลย เราพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นที่ไม่ตรงกับความคิดของเราหรือไม่
ขอจบด้วยประโยคสำคัญของ John Kotter ก็แล้วกัน
...ถ้าพนักงานรู้สึกว่าเขาไม่มีอำนาจหรือสิทธิออกเสียงแสดงความคิดเห็น แล้วละก็ พวกเขาจะไม่ช่วยเหลือ หรือไม่สามารถช่วยเหลือ หรือไม่ทุ่มเทความพยายามใดๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงเลย...

ไม่มีความคิดเห็น: