หน้าเว็บ

23 กรกฎาคม 2553

หมากับการบริหาร

ผมมีหมาพันธุ์ทางสีขาวตัวหนึ่ง เป็นตัวเมีย เวลาที่ดุหรือตี (เบาๆ ไม่ทารุณสัตว์นะ) จากความซุกซนหรือไม่เชื่อฟัง แทนที่หล่อนจะกลัวแล้วหนีหน้า กลับแสดงท่าทีสำนึกผิด หูตูบหางตกกระดิกหางระริกระรัวเข้ามาแนบเท้าเอาฝ่าเท้าหน้าแตะที่เท้าผมอีก
สะท้อนกลับสู่ชีวิตการทำงานจริง...


เคยไหมครับที่บางทีเราดุ ต่อว่าต่อขานลูกน้อง แล้วเขาไม่ได้แสดงความไม่พอใจออกมาเลย มีแต่สีหน้าสลดสำนึกผิด หรือยิ้มเจื่อนๆ พร้อมขอโทษว่าผิดไปแล้ว ข้าน้อยสมควรตาย โปรดอภัยให้สักครั้ง... ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไร

แต่กับลูกน้องอีกคนหนึ่งที่แสดงอาการไม่พอใจ กะฟัดกะเฟียดฮึดฮัดไม่ยอมรับผิด (จริงๆ เขาอาจไม่ผิดก็ได้) แล้วก็ไม่เข้าหน้าเราอีก ดูท่าทางว่าไม่ชอบเรา เรารู้สึกอย่างไร
ผมเคยเปรียบเปรยอาการของสุนัขแบบนี้ให้ลูกชายฟังตอนที่เขายังเป็นวัยรุ่น เพื่อยึดถือเป็นแบบอย่างให้มีหมาเป็นครูว่า เวลาที่หัวหน้าบ่นด่าไม่พอใจ เราเป็นลูกน้องก็ไม่มีหน้าที่ต้องแก้ตัวหรืออธิบายใดๆ เพียงแสดงอาการยอมรับผิดไปก่อน ขอโทษไปก่อน ลุ้นให้หัวหน้าด่าซะให้สะใจ ต่อเมื่อหัวหน้าเย็นลง (อาจใช้เวลา 3 วัน) ค่อยไปคุยกันใหม่ด้วยการสื่อสารอย่างสันติมีชั้นเชิง เริ่มจากขอบคุณหัวหน้าที่อดทนแนะนำสั่งสอน หากหัวหน้าไม่อบรมสั่งสอนแล้วคงเดินผิดทางไปอีกนาน ไม่ผิดหวังเลยที่มีหัวหน้าที่รักและหวังดีกับลูกน้องแบบนี้ เผอิญว่ามีข้อมูลบางอย่างที่จะขอความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหัวหน้าครับ.... แล้วก็ว่าไปด้วยข้อมูลข้อเท็จจริงเพิ่มเติม
ประเด็นสำคัญในเหตุการณ์นี้คือ หัวหน้าที่ดุด่าว่ากล่าวจนสะใจ ระบายอารมณ์ออกมาเต็มที่ แล้วลูกน้องคนนี้ไม่เถียงไม่แก้ตัวใดๆ และเมื่ออารมณ์และสติสัมปชัญญะกลับเข้าร่างแล้ว เราจะรู้สึกว่าเรารุนแรงกับเขาเกินไปแล้ว เห็นจะต้องไปปลอบสักหน่อย โอ!เจ้าลูกน้องคนนี้เป็นคนที่สอนได้ (จริงๆ ไม้ได้สอน ได้แต่ด่า) เราต้องเก็บมันไว้ มันเป็นคนดี ต้องส่งเสริม ... อะไรๆ ทำนองนี้
คนที่เป็นลูกน้องก็น่าจะดีใจที่มีหัวหน้าที่มีอะไรก็พูดออกมา (แม้วิธีการพูดจะรุนแรงไปบ้าง) ดีกว่ามีอะไรก็ไม่บอกเรา แล้วก็ค่อยๆฆ่าเราในที่สุด หรือไปรู้อีกทีก็ตอนพิจารณาผลงานประจำปี

ไม่มีความคิดเห็น: