หน้าเว็บ

01 มีนาคม 2553

พื้นฐานแห่งการนินทา

นินทาใครหนอที่มันที่สุด ก็นินทานายไง

ทุกคนรู้ดีว่าไม่ควรนินทานาย แต่แหม มันเหลืออดจริงๆ

ทำไมลูกน้องจึงนินทานาย?

สาเหตุใหญ่ๆ น่าจะมี 2 ประการ คือหัวหน้าทำตัวให้ลูกน้องเหนื่อยหน่าย กับ ลูกน้องมีนิสัยอันฝังลึกแบบนั้น


ประการแรกก่อน ลูกน้องจะนินทานายประเภทไหน ก็น่าจะเป็นนายประเภทเก่งเกินแกง แสดงความรู้ความเก๋าแบบไม่ยอมฟังใคร ลูกน้องมีข้อมูล มีข้อเท็จจริงไม่มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ได้แต่นำสูตรสำเร็จแห่งประสบการณ์อันช่ำชองของนายไปทำทั้งที่ไม่เห็นด้วย เมื่อไม่เห็นด้วยแต่ต้องทำก็ขอระบายซักหน่อยทำนองว่าบ่นแก้เบื่อ ทำไปบ่นไป พอดีมีเพื่อนร่วมชะตากรรมช่วยต่อความยาวสาวความยืดก็ยิ่งมันเข้าไปใหญ่

ประการที่ 2 เป็นประเภทนิสัยอันฝังแน่นของลูกน้องประเภทเอาอะไรมาซักก็ไม่ออก ไม่ต้องถามว่าออกไหมลูก เพราะจะตอบว่าไม่ออกหรอกแม่

เดวิด เจ. ไลเบอร์แมน (David J. Lieberman) วิเคราะห์ไว้ค่อนข้างเจ็บปวดว่า คนที่นินทาคนอื่นก็เพราะเขาคนนั้นมีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ... ก็เลยต้องเหยียบย่ำคนอื่นให้ต่ำลง ตัวเองจะได้ดูสูงขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นประเภทแรกหรือประเภทหลัง ใครกันที่จะแก้ไข หรือจะปล่อยไปแบบยอมรับชะตากรรม ยอมเป็นเหยื่อ

แล้วการแก้ไขจะแก้แบบไหน แบบทฤษฎี X ไหม ง่ายดี หาตัวแสบเหล่านั้นมาลงโทษเป็นเยี่ยงอย่าง
อย่า X เลยครับ แค่ R ก็ดูไม่จืดแล้ว มีผ้าผ่อนปิดบังไว้หน่อยดีไหม ไม่อุจาดตา

เราเป็นนายเราคงต้องพัฒนาตนเองต่อไป ใช้การบริหารแบบมีส่วนร่วม หรือบริหารแบบไร้อำนาจ จะเกิดความร่วมมือร่วมใจถวายชีวิตให้จริงๆ

ส่วนลูกน้องตัวแสบจอมนินทา ก็เห็นต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กร หรือวัฒนธรรมหน่วยงานที่ไม่ยอมรับการนินทา ตัวเองก็ไม่ยอมรับฟังคำนินทา ใครมานินทาใส่ร้ายก็สื่อสารอย่างสันติให้เขารู้ว่าเรารับไม่ได้ มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของดาว ประชุมกันก็เน้นปลูกฝังอย่างจริงจัง ไม่ช้านานก็จะเบาลง หรือไม่มีนินทาให้ได้ยิน

เรื่องแบบนี้ เห็นท่าต้องคุยกันอีกนาน ก็จะคุยไปเรื่อยๆ ตามสิ่งเร้าที่เข้ามากระตุ้นในแต่ละวัน

ไม่มีความคิดเห็น: