หน้าเว็บ

29 มีนาคม 2554

The Star & The Commentator

โอ!! The Star
ปีนี้ก็รุ่นที่ 7 แล้ว กว่าจะได้เป็น The Star ต้องผ่านอะไรมาบ้าง อยากรู้ต้องไปสมัครเข้าแข่งขัน แต่ก็ไปไม่ได้ เขาจำกัดอายุซะนี่!
ประเด็นที่จะคุยวันนี้ ไม่เกี่ยวกับคนที่จะเป็น The Star หากแต่เป็น The Commentator และไม่ได้เฉพาะเจาะจงกับคุณเพชร คุณโจ้ คุณม้าเท่านั้น แต่หมายรวมถึง Commentator ทั่วไปทั้งที่เป็นพี่เลี้ยง หัวหน้างาน ผู้นำ หรือใครๆ ก็ตามที่ต้องให้คำวิพากษ์วิจารณ์
ก่อนอื่นขอทบทวนความเข้าใจก่อนว่า “อันว่าความจริงเป็นสิ่งที่ไม่ตาย แต่... คนที่พูดความจริง (ออกมาอย่างตรงๆ / ตรงมาตรงไป) มักจะตาย!

ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ให้พูดความจริงนะ แต่การพูดความจริงอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้นการพูดความจริงจึงต้องมีอุบาย หากคนที่เราจะวิจารณ์เป็นคนเข้มแข็งเด็ดเดี่ยว มุ่งมั่นสูความสำเร็จ และยอมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ตรงๆ ได้ ก็พูดตรงๆ ไปเถอะ แต่ถามหน่อยว่าแบบนั้นน่ะจะมีสักกี่คน แล้วลองถามตัวเองดูก่อนว่าชอบแบบนั้นหรือเปล่า หรือจะพูดให้มันนุ่มมันซอฟท์ไม่ให้เสียหน้าเสียกำลังใจได้ไหม
อันว่าคนเรานั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว หากใครมาวิจารณ์ให้ไม่ถูกใจ ก็มักจะต่อต้าน แข็งข้อ ดื้อดึง ไม่ยอมรับ เพราะอัตตาตัวตนยังมีอยู่ อันว่าตัวตนของข้านี้ใครอย่าแตะ เข้าใจไหม
แต่ commentator ที่วิจารณ์แล้วได้ตังค์ (อันนี้ไม่ได้หมายถึงเพชร โจ้ ม้านะ หมายถึงทั่วๆ ไป) เขาอาจจะต้องวิจารณ์ให้ได้ตังค์ ให้คนดูคนฟังแล้วชอบ สะใจ สร้างเรตติ้งให้สูงไว้ นั่นก็เป็นอาชีพเขา
เอาเป็นว่ากลับมาที่เมื่อเราเป็นหัวหน้าแล้วต้องวิจารณ์ลูกน้องดีกว่า เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ควรหลีกเลี่ยงนะ แต่ต้องมีวิธีการอยู่บ้าง ขอตัดความคิดประเภทที่จะไม่วิจารณ์ก่อน เพราะมีอยู่มากที่ไม่ยอมวิจารณ์ลูกน้อง เกรงจะเกิดเรื่องไม่งาม เรื่องไม่ดีเกิดขึ้น แล้วก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ได้เสาะหาเทคนิควิธีการใดๆ เพิ่มเติม กรรมเวรของพวกลูกน้องจริงๆ ที่จะไม่รู้ว่าตนเป็นอย่างไร จะรู้ตัวก็ต่อเมื่อถึงเวลาพิจารณาผลงานปลายปีเท่านั้น ซึ่งก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขใดๆ ได้ บ้างถึงกับแค้นใจว่าทำไมไม่บอกแต่เนิ่นๆ จะได้ทราบว่าต้องแก้ไขปรับปรุงอย่างไร นี่พี่แกไม่ยอมบอกเลย บอกที่เดียวก็มีผลต่อเงินเดือนซะแล้ว
ถือว่าการวิจารณ์ลูกน้องนี้เป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่หัวหน้าต้องกระทำให้ขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาคน ซึ่งในภาษาบริหารเราเรียกกันว่าการให้ข้อมูลป้อนกลับ (Feedback)
จริงๆ แล้วก็มีหลากหลายวิธีการตามตำราที่หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ตำราเหล่านั้นไม่ค่อยจะพูดถึงก็คือ การให้ข้อมูลป้อนกลับนี้ เป็นเรื่องที่หัวหน้าต้องถือว่าเป็นการทำบุญทำกุศล ทำด้วยความรักความเมตตา อยากให้ทุกคนประสบความสำเร็จในชีวิตและหน้าที่การงาน จึงต้องบอกต้องสอนกันไง
Feedback มี 2 ด้าน ด้านแรกคือเมื่อลูกน้องทำงานได้ดีก็ต้องแจ้งให้ทราบถึงผลดี เพื่อให้เขาได้ทราบว่าเขามาถูกทาง ชมเขาบ้าง ให้เขาได้รู้ว่าเราดูอยู่นะ ต่อไปลูกน้องก็ไม่ต้องน้อยใจว่าทำดีก็ไม่มีคนเห็น อย่าว่าแต่คนไม่เห็นเลย หมามันยังไม่เห็น และการชมนี้เราสามารถชมต่อหน้าสาธารณกำนัลได้เลย จะชมถึงพ่อแม่เทือกเถาเหล่ากอก็ได้ แต่ว่าต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะหากชมแบบไม่มีองค์ประกอบที่เหมาะสม เขาอาจจะระแวงว่าที่มาชมอยู่นี้ จะหลอกใช้อะไรกันอีก
หลักการที่ปรับให้ง่ายๆ จำง่ายๆ ก็ใช้ What, why/How และ Want เริ่มแรกด้วยการบอกว่างานอะไร หรืออะไรต่อมิอะไรที่เขาทำได้ดี เป็นพยานหลักฐานที่เป็นรูปธรรมนะ (วัตถุพยาน) แล้วตามด้วยว่าทำไม่มันถึงดี หรือมันดียังไง แล้วก็ตามด้วยการสำทับว่านี่เป็นสิ่งที่เราต้องการ และให้รักษาระดับผลงานอย่าให้ต่ำกว่านี้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามันจะมีการทำให้ดีกว่าเดิมไปอย่างไม่หยุดยั้ง เช่น “เออนี่! รายงานที่คุณส่งมาเมื่อวานนี้ ผมอ่านแล้วนะ มันดีมากเลยเพราะว่าข้อมูลที่เก็บรวบรวมมามีความน่าเชื่อถือมาก และเมื่อคุณวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา ก็วิเคราะห์ได้อย่างละเอียด มีการแยกหมวดหมู่ และแสดงผลด้วยกราฟทำให้เห็นแนวโน้มได้อย่างง่ายดาย ผมว่าผมจะเอารูปแบบรายงานของคุณนี้เป็นมาตรฐานรายงานของแผนกเลยนะ ขอให้คุณรักษาระดับผลงานแบบนี้ต่อไปนะ และคิดว่าคุณอาจมีความคิดที่จะปรับปรุงให้เหนือคาดคิดได้อีก ผมประทับใจจริงๆ”
เป็นไงครับ นึกถึงตัวเราเองนะ เวลาหัวหน้าชมแบบนี้ เทียบกับเพียงชมว่า “โอ! ดีมาก ขอบคุณนะ” คุณอยากได้แบบไหนมากกว่ากัน
ต้องจบก่อนแล้ว Feedback ในเรื่องตรงกันข้าม (เรื่องที่เขาจะต้องปรับปรุง) ขอเป็นครั้งหน้านะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: