หน้าเว็บ

23 มีนาคม 2554

เป้าหมายที่ขัดกับหลักการ

เพิ่งได้ดู 24 Season 8 จบ ตอนแรกก็สงสัยอยู่ว่าเล่นมา 7 ตอนแล้ว ยังมีพล็อตอะไรเอามาเล่นอีก ดูๆ ไปเรื่อยๆ ก็พบว่าหนังเอาเรื่องปกติของคนมาตีแผ่ในเชิงตื่นเต้นเร้าใจ
ประเด็นแรกก็เรื่องของการยึดมั่นถือมั่นในตัวเอง ยึดติดกับความเก่งความเฉียบแหลมของตน ที่เด่นๆ เลยก็คือหัวหน้า CTU ที่ไม่ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของลูกน้อง เพราะเชื่อมั่นในความเก๋าของตน จนทำให้ตัวเองต้องหลงทางและถูกปลดจากตำแหน่งในที่สุด หรือแม้กระทั่งวิศวกรที่มาแก้ไขระบบสื่อสารหลังจากที่ CTU โดนถล่ม ซึ่งยึดมั่นในหลักวิชาการเกินไปจนไม่ฟังเหตุผลของคนอื่นที่เสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าแบบเร่งด่วนเพื่อให้ระบบสามารถใช้การได้ทันทีแม้จะมีความเสี่ยงสูง


เรื่องการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างนี้ เป็นเรื่องปกติ แน่นอนว่าในขณะหน้าสิ่วหน้าขวานภาวะวิกฤติ ผู้นำต้องตัดสินใจเด็ดขาด รวดเร็ว หนักแน่น มั่นคง แต่จะดียิ่งขึ้นเมื่อนำความคิดเห็นของคนอื่นที่แตกต่างจากตนมาพิจารณาต่อเนื่องหลังจากที่ได้ตัดสินใจสั่งการไปแล้ว เพื่อจะได้ตรวจสอบความเป็นไปได้ หรือแง่คิดมุมมองอื่นที่ตนหลงลืมหรือคิดว่าเป็นไปไม่ได้นั้นอีกครั้งอย่างถี่ถ้วน หรือซักถามเพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการติดตามผลและปรับปรุงการตัดสินใจ
แต่ที่เด็ดๆ ก็เห็นจะเป็นพฤติกรรมของท่านประธานาธิบดี ที่มีภาพลักษณ์แห่งความยุติธรรม ยึดมั่นในหลักการมากกว่าความอารมณ์ความรู้สึกหรือต้องการส่วนตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วท่านก็ติดกับตัวเองที่ตัดสินใจเดินหน้าปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ แม้ว่าจะต้องสั่งจับตายคนที่ท่านไว้เนื้อเชื่อใจแต่ขัดขวางการดำเนินการของท่าน และแม้แต่ที่ปรึกษาใกล้ชิดก็ต้องลาออกไปเพราะไม่ยอมให้ท่านตัดสินใจที่ขัดหลักการแห่งความถูกต้อง
โดยทั่วไป เป็นเรื่องธรรมดาๆ สำหรับคนทั่วไปที่ละทิ้งซึ่งหลักการเพียงเพื่อการบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ฆ่าคนสักคนสองคนเพื่อให้คนที่เหลือรอด ทำผิดทำนองคลองธรรมสักครั้งเพียงเพื่อจะได้บรรลุเป้าหมายที่เหลือระยะทางอีกนิดเดียวก็จะบรรลุเพราะบากบั่นฝ่าฟันลำบากยากเข็ญมาแรมปี ทุ่มเททรัพยากรแรงกายแรงใจมากมายเพื่อเป้าหมายนี้ กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ ถึงเลือดต้องเปื้อนมือบ้างก็หาเป็นไรไม่ เพราะเป็นเลือดจากคนไม่กี่คน ที่จะได้รักษาไว้ซึ่งคนส่วนใหญ่ให้เหลือรอดธำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป ก็มันเป็นขั้นตอนสุดท้ายแล้วนี่ เมื่อมีคนขัดขวางก็ต้องกำจัด ทั้งๆ ที่รู้อยู่แก่ใจว่าผิดหลักการ แต่ความมัวเมาผูกพันในเป้าหมายมีมากเกินกว่าที่จะยอมหยุดและทิ้งไปได้
ในเรื่อง ถือว่าท่านประธานาธิบดีเป็นตัวแปลสำคัญ ซึ่งสุดท้าย ในวินาทีสุดท้าย ท่านกลับตัวเสียก่อน กลับเข้ามาอยู่ในหลักการ แม้ว่าเป้าหมายกำลังจะสำเร็จเพียงท่านลงชื่อแก๊กเดียวเท่านั้น ซึ่งท่านก็รู้ว่าเมื่อท่านกลับตัวเช่นนี้ จะไม่เป็นผลดีกับท่านแน่นอน ท่านจะต้องพ้นจากตำแหน่ง และรับโทษตามกฎหมาย แต่ก็แสดงให้เห็นว่าสุดท้ายท่านยังยึดมั่นในหลักการ แม้ว่าจะเดินผิดทางไปนานพอสมควร
เคยตรวจสอบตัวเองไหมว่า ตนเองเป็นที่คนที่จะยอมตายเสียดีกว่าที่จะละทิ้งซึ่งหลักการ หรือเป็นคนประเภทที่ว่า เพื่อบรรลุเป้าหมายแล้ว มือและใจจะเปื้อนเปลอะไปด้วยเลือดหรือน้ำตาของคนอื่นหรือผิดเพี้ยนซึ่งหลักการบ้างก็ไม่เป็นไร (หลักการคืออะไร ค้นหาได้จากเรื่องเก่าๆ นะครับ)
เรื่องนี้ขอสรุปด้วยถ้อยคำของ Stephen R. Covey จาก The 8th Habit ที่ว่า
เพื่อรักษาความเคารพในตนเอง เราต้องทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้จะทำให้คนไม่พอใจ ดีกว่าทำให้คนพอใจชั่วคราวด้วยการทำสิ่งที่เรารู้ว่าผิด
และของ David J. Lieberman ที่ว่า
เมื่อคุณเลือกที่จะทำสิ่งที่ถูกต้องและมีจริยธรรม แม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ทำให้คุณได้เปรียบเลยก็ตาม คุณจะทำให้ผู้อื่นรู้สึกภักดีต่อคุณเพิ่มขึ้นได้อย่างมาก และที่สำคัญ มันจะเป็นความภักดีที่ไม่มีวันเสื่อมคลายลงไปได้ง่ายๆ” และ
จงเลือกที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่มีทางเลือกอื่นที่ง่ายกว่าก็ตาม
และสุดท้าย เป็นคำของโกวเล้ง ใน “อินทรีย์ผงาดฟ้า” ที่ว่า
ไร้ตัณหาจะเข้มแข็ง ไร้กังวลจะเด็ดเดี่ยว ผู้ที่มีการศึกษาล้วนเข้าใจความหมายของคำนี้แต่น้อยคนที่ปฏิบัติได้ ไม่ว่าผู้ใดล้วนมีกิเลสตัณหา ดังนั้น ปณิธานของคนจึงอ่อนแอเปราะบาง ไม่ว่าผู้ใดล้วนมีบุคคลที่ตนกังวลสนใจ ดังนั้น ปณิธานของคนจึงสั่นคลอน
และสุดท้ายกว่าเพราะอดไม่ได้ คือ คำกล่าวของซิก ซิกล่า ที่ว่า
"สิ่งที่คุณได้รับจากการบรรลุเป้าหมาย ไม่สำคัญเท่ากับสิ่งที่คุณจะกลายไปเป็น หลังจากที่คุณบรรลุเป้าหมาย"

ไม่มีความคิดเห็น: