หน้าเว็บ

15 เมษายน 2554

เทพแห่งการแก้ปัญหา


ช่วงนี้ปัญหาน้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้เริ่มบรรเทาลงแล้ว
จากข่าวทีวี จะเห็นน้ำท่วม ดินถล่ม ความตาย ความยากแค้นลำเค็ญ และน้ำใจ รวมทั้งมีการกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดมหันตภัยนี้ไว้พอสมควร แต่ว่าวิธีแก้ไขเชิงป้องกันไม่เกิดซ้ำนั้นช่างเลื่อนลอยเสียนี่กระไร
เราหลีกเลี่ยงการพูดถึงปัญหาระดับชาติกันดีกว่า (มันอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน) แต่จะย้อยประเด็นเข้าสู่การบริหารงานในองค์กร ตามชีวิตการทำงานประจำวัน - เพื่อความปลอดภัย!

ปัญหาในองค์กรก็ดูจะใหญ่เกินไป เริ่มจากปัญหาในหน่วยงาน/ทีมงานที่เรารับผิดชอบหรือไม่ได้รับผิดชอบแต่ต้องอยู่กับมันทุกเมื่อเชื่อวัน อย่าบอกนะว่าหน่วยงาน/ทีมงานของเราไม่มีปัญหา จากประสบการณ์การระดมสมองในหลายๆ องค์กรที่ได้เข้าไปสัมผัส ในเวลา 6 นาทีกับกลุ่มที่มีสมาชิก 5-6 คน จะได้ประเด็นปัญหาที่มีอยู่ รวมทั้งความขัดข้องอึดอัดใจนั้น รวมแล้วแต่ละกลุ่มจะได้ปัญหาออกมา 10-25 ปัญหา (ตามบรรยากาศการระดมสมองของแต่ละกลุ่ม)
เมื่อแยกปัญหาออกมา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นปัญหาเรื้อรัง ปัญหาเกี่ยวกับระบบการบริหาร ปัญหาเกี่ยวกับการประสานงาน ฯลฯ ที่หลายๆ คนลืมๆ ไปแล้วว่าเป็นปัญหา อาจถึงขั้นยอมรับว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นธธรมดาในหน่วยงาน/องค์กรของตน เมื่อถามว่าปัญหาเหล่านี้ใครหนอจะเป็นคนแก้ไข ต่างก็ตอบเหมือนๆ กันว่าฝ่ายบริหารต้องเข้ามาจัดการ พวกเขานั้นไม่มีอำนาจ ไม่มีพลังเพียงพอที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง ในขณะเดียวกันนั้น เราอาจเห็นคนที่มีสายตาแวววาวเจิดจ้าขึ้นมาบ้าง เพราะพวกเขาพบว่ามีงานที่พวกเขาต้องจัดการอีกมากมาย โดยที่พวกเขาไม่ได้คิดด้วยซ้ำไปว่าเขาจะมีพลังอำนาจเพียงพอหรือไม่ที่จะจัดการ เพราะพวกเขาไม่ต้องการพลังอำนาจใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไข เขาใช้เพียงปัญญา
ที่นี้เรามาดูผู้รับผิดชอบกับปัญหาเหล่านี้ดูว่าเขาคิดยังไงจึงยังคงทำให้ปัญหาเป็นปัญหาเรื้อรัง เป็นปัญหาที่ควรแก้ไข (แต่ไม่ได้แก้ไขซักที) เราจะพบว่าพวกเขาเหล่านี้จะมีข้ออ้าง มีเหตุผล 108-1009 ที่น่าเชื่อถือและชวนหดหู่ท้อถอยหมดหวังหมดกำลังใจว่าทำไมปัญหาจึงยังไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเขาเพียงเป็นคนธรรมดาๆ คนหนึ่ง เรียกว่า “บ่น” ออกมาได้เลยแหละ แต่ขอให้เข้าใจก่อนว่าการบ่นนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ลองดูคำคมจาก The Magic of thinking Big (คิดใหญ่ ไม่คิดเล็ก: David J. Schwartz-ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร) ที่กล่าวว่า “เขาอาจจะ (ขอย้ำว่าอาจจะ) ได้รับความเห็นใจนิดหน่อย แต่จะไม่ได้รับการยอมรับนับถือจากการที่เป็นคนช่างบ่นนี้เลย”
ช่างเขาเถอะ อย่าไปบ่นพวกเขาเลย เดี๋ยวเราจะกลายเป็นคนขี้บ่นแต่ไม่ทำอะไรไปด้วย ดังนั้นแทนที่จะเสียเวลากับคนเหล่านี้ เราเอาเวลามาคิดหาหนทางแก้ไขกันดีกว่า
อยากเรียกคนที่เข้ามาแก้ปัญหาอย่างเงียบๆ ค่อยเป็นค่อยไปใช้ปัญญาอย่างเข้มข้นเหล่านี้ว่า “เทพแห่งการแก้ปัญหา”
คนพวกนี้ (คุณคิดว่ามีอยู่กี่ %) จะค่อยๆ คิดหาหนทางแก้ไขปัญหาทีละเรื่องๆ อย่างเงียบๆ ไม่ได้ใช้วิธีการแห่งการใช้อำนาจเข้าครอบงำบังคับ เพราะเขารู้ว่ามันไม่ยั่งยืน เขาจะเปลี่ยนแปลงอย่างถอดรากถอนโคน เรียกว่าเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรกันเลยแหละ ขอย้ำนะว่าไม่ใช้อำนาจ ใช้เพียงปัญญา เพียงแต่ว่าต้องใช้เวลาที่ยาวนานมาก ก็ต้องเข้าใจต้องยอมรับ เพราะมันเป็นการเปลี่ยนที่กรอบความคิดทัศนคติของผู้เกี่ยวข้อง เขาไม่ได้เพียงแต่แก้ไขให้ผ่านๆ ไป หรือให้ได้ผลทันที แล้วสักพักปัญหาเหล่านี้มันก็กลับมาใหม่
และเมื่อเวลาผ่านไป อาจเป็นปี หลายปี ผลจะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน และทุกคนที่เกี่ยวข้องล้วนรู้สึกว่าผลแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเพราะพวกเขาเองที่ร่วมมือร่วมใจกันผลักดันให้เกิดขึ้น - แล้วเทพฯ ไปไหน?
เขาก็เพียงชื่นชมผลงานอยู่เงียบๆ ว่าเขาได้ทำให้ผู้คนพัฒนากรอบความคิดทัศนคติกันได้อีกเรื่องแล้ว สำเร็จแล้ว มาดูว่าเรื่องใหม่ที่จะทำต่อไปนี่ จะเล่นเรื่องอะไรดี – เขาไม่ได้แสดงความเป็นเจ้าของผลงานเลย
อ้าว! แล้วงี้มันได้ประโยชน์อะไร นายจะเห็นผลงานหรือไม่ เทพฯ จะเจริญก้าวหน้าในชีวิตการงานหรือไม่
ที่แน่นอนที่สุดคือ ผู้เกี่ยวข้องล้วนทราบว่าใครคือผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ใครคือคนที่ทำให้พวกเขาได้ประสบความสุข ความสบาย หรือเกิดบรรยากาศที่ดีในชีวิตการทำงาน และใครที่ทำให้พวกเขาได้หน้าได้ตาได้ประสบความสำเร็จ
เขาจะกลายเป็นผู้นำไปแล้วครับ ไม่กระโตกกระตากด้วย ทุกคนยอมรับเขาเพราะการที่เขาไม่ชิงดีชิงเด่นนี่แหละ หากเขาชิงดีชิงเด่นขึ้นมาละก็ ไม่มีทางสำเร็จอย่างนี้หรอก และเขาเองก็อาจเดี้ยงไปแล้วด้วยการถูกขัดแข้งขัดขา ถูกแทงข้างหลัง ถูกเลื่อยขาเก้าอี้เอาง่ายๆ
เพราะเขาเงียบอยู่ สนับสนุนทุกผู้คนอยู่ เขาจึงได้รับการยอมรับ และได้รับความร่วมมือและความเชื่อมั่นตามมา มันเป็นความเชื่อมั่นกึ่งจงรักภักดีที่ไม่มีวันเสื่อมคลาย เขาได้สร้างบารมีขึ้นแล้ว ซึ่งเขาจะใช้บารมีนี้ (พลังแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน) ไปพัฒนาปรับปรุงแก้ไขปัญหาต่างๆ อีกมากมายที่ยากเย็นแสนเข็ญกว่าเดิม และเขาจะทำได้ เพราะทุกคนล้วนอยากร่วมมือกับเขา ก็ทำไมไม่อยากเล่า เพราะเมื่อทำงานร่วมกับเขาแล้วมีแต่สบายอกสบายใจ ได้ผลงานออกมาเป็นกอบเป็นกำ นำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิตการงาน
ส่วนนายเบื้องบนจะเห็นหรือไม่ ก็แล้วแต่วาสนา (จะเรียกว่าอะไรก็ตาม) หากยังใช้กรรมอยู่ก็จะพบกับนายที่ไม่รู้เรื่องหรอกกว่าอะไรเปลี่ยนไปบ้าง ใครเป็นผู้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ แต่หากมีวาสนาได้เจอนายที่ฉลาด นายจะรู้ได้ครับ
ตอนนี้คุณมีวาสนามั้ย?

ไม่มีความคิดเห็น: